วันเสาร์ที่ 24 มกราคม 2558 เวลา 10.00 น. สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)Electronic Transactions Development Agency (Public Organization)
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. โดย ICT Law Center จัดงาน Open Forum: หัวข้อ “ร่วมปฏิรูปกฎหมาย ร่วมให้ความเห็น เพื่อเดินหน้าประเทศไทย” เมื่อวันเสาร์ที่ 24 มกราคม 2558 เวลา 10.00 น. เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้มีโอกาสร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมาย 10 ฉบับที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติในหลักการให้ความเห็นชอบเมื่อไม่นานมานี้
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ กระทรวง ICT นำโดยรองปลัดกระทรวง ICT (นางทรงพร โกมลสุรเดช) ปฏิบัติหน้าที่โฆษกกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน และให้อธิบายภาพให้เห็นว่ากระทรวง ICT อยู่ระหว่างการปรับตัวเพื่อเป็นหลักในการรับผิดชอบนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลหรือ Digital Economy ของคณะรัฐมนตรี ที่ต้องปรับการทำงานและวางแผนงานให้ประเทศไทยเดินหน้าเป็นดิจิทัลมากขึ้น และเชิญชวนให้ผู้เข้าแสดงความเห็น ตั้งคำถาม แบ่งปันประสบการณ์ และสะท้อนมุมมองต่อชุดร่างกฎหมายทั้ง 10 ฉบับ เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศอย่างแท้จริง
นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. ได้อธิบายถึงที่มาของการจัดงาน Open Forum ที่มีขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจและสื่อสารข้อมูลที่อาจจะยังไปไม่ถึงภาคสังคมเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับต่าง ๆ ที่กำลังเป็นที่ถกเถียงอยู่ขณะนี้ เนื่องจากกฎหมายเองมีบางส่วนที่ยังไม่ตกผลึกและยังต้องมีการปรับปรุง สพธอ. จึงลุกขึ้นมาเป็นเจ้าภาพจัดงานในวันนี้ในลักษณะการสนทนาแบบ Open Forum ที่เปิดให้ทุกท่านได้แสดงความคิดเห็นได้เต็มที่
นางสุรางคณาฯ ได้ให้ข้อมูลแสดงสถานภาพของประเทศไทยในปัจจุบันว่า ในวันนี้ประเทศไทยมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือสูงถึง 95 ล้านหมายเลข หากมองจากปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่ออีคอมเมิร์ซพบว่าตัวเลข e-Payment ปัจจุบันมีมากถึง 750 ล้านล้านบาท ซึ่งในปีนี้ สพธอ. กำลังเร่งสำรวจว่ามีมูลค่าของอีคอมเมิร์ซทั้งประเทศที่แท้จริงเท่าไหร่เพราะตัวเลขดังกล่าวได้รวมการโอนเงินรายใหญ่ ๆ ไว้ด้วย แต่เมื่อมองในอีกมุมหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม คือ การเปรียบเทียบศักยภาพของประเทศไทยกับประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะการดูแลระบบ Security ให้ปลอดภัย โดยได้มีการยกตัวอย่างการจัดลำดับประเทศที่มีความเสี่ยงในระบบสารสนเทศ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับทั่วโลกแล้วประเทศไทยมีความเสี่ยงจัดอยู่ในลำดับ 3 และในด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในปี 2013 ประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 48 ซึ่งสูงกว่าฟิลิปปินส์ แต่ต่ำกว่าทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย จากตัวอย่างสถิติที่กล่าวมานี้จึงเป็นข้อกังวลว่าประเทศไทยจะพร้อมรับมือภัยคุกคามรูปแบบใหม่ได้อย่างไร ในขณะที่ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัล จึงเป็นโจทย์ที่จะต้องหาคำตอบไปพร้อมกับการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้วยดิจิทัล
ขณะนี้ มีหลายคำถามเกิดขึ้น เช่น ทำไมต้องพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม? การทำงานของภาครัฐเป็นเอกภาพแล้วหรือยัง? เพราะทุกวันนี้ประเทศไทยมีคณะกรรมการหลายชุดในหลายด้าน แต่ก็ยังขาดการประสานงานข้ามหน่วยงานที่มีประสิทธิภาพ และเมื่อต้องการผลักดันงานในแต่ละด้าน ต่างก็ตระหนักในเรื่องความมั่นคงปลอดภัย การทำงานจึงต้องดูทั้งในมิติการรับมือ และในเชิง promote รวมทั้ง การ reform กระทรวง ICT มีส่วนสำคัญในการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงฯ เพื่อรองรับ Digital Economy นอกจากนี้ยังมีประเด็นคำถามเรื่องการใช้อินเทอร์เน็ตในปัจจุบันที่ยังมีต้นทุนราคาที่สูงกว่าในหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งต้องการการตัดสินใจว่าประเทศไทยจะเป็นไปในทิศทางใด หรือแม้กระทั่งกองทุนที่ในปัจจุบันประเทศไทยมีอยู่หลายกองทุน แต่ยังไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์ผลักดันพัฒนาประเทศเราเท่าที่ควร
ดาวน์โหลดเอกสาร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น